เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[184] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
[185] เมื่อถึงภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปสมบัติอันใคร ๆ ไม่นินทา
[186] ราชสกุลนั้นเห็นหม่อมฉันมีรูปงามดังดวงอาทิตย์
จึงพากันชื่นชม เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีนามว่านันทา
เป็นผู้มีรูปลักษณ์ที่งดงามประเสริฐ
[187] ในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชธานีที่รื่นรมย์นั้น
นอกจากพระนางยโสธราแล้ว
ปรากฏว่าหม่อมฉันมีความงามกว่ายุวนารีทุกคน
[188] พระเชฏฐภาดาก็เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศในโลก 3
พระภาดาองค์สุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์
หม่อมฉันเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เป็นคฤหัสถ์
พระมารดาทรงตักเตือนว่า
[189] ‘ลูกรัก เจ้าเกิดในศากยสกุล
เป็นน้องของพระพุทธเจ้า เมื่อเว้นจากนันทกุมารแล้ว
จักได้ประโยชน์อะไรในวังเล่า’
[190] ความเป็นหนุ่มสาว ก็มีความแก่เป็นที่สุด
รูปบัณฑิตรู้กันว่าเป็นของไม่สะอาด
แม้ไม่มีโรค ก็มีโรคเป็นที่สุด
ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
[191] รูปที่สวยงามของเธอแม้นี้ น่าใคร่ดังดวงจันทร์
จูงใจให้นิยม อลังการด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย
คล้ายกำหนดรู้ได้ด้วยสิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :480 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. กุณฑลเกสีวรรค] 5. นันทาเถริยาปทาน
[192] ดุจเป็นสิ่งสำคัญของชาวโลกที่เขาบูชากัน
เป็นที่ดึงดูดแห่งนัยนา
เป็นที่ก่อเกิดการสรรเสริญบุญ
เป็นที่ชื่นชมแห่งวงศ์โอกกากราช
[193] โดยกาลไม่นานนัก ความแก่ก็จักมาครอบงำลูกรัก
ผู้มีรูปอันใคร ๆ ไม่นินทา จงละพระราชฐานและรูปกาย
ที่บัณฑิตตำหนิแล้วประพฤติธรรมเถิด
[194] หม่อมฉันผู้ยังโลเลในรูปที่ยังเป็นสาว
ได้ฟังพระดำรัสของพระมารดาแล้ว
ก็ออกบวชเป็นบรรพชิตแต่เพียงกาย
แต่หาออกบวชด้วยจิตใจไม่
[195] หม่อมฉันระลึกถึงตนด้วยความขวนขวายตรวจตราอย่างมาก
พระมารดาตรัสตักเตือนเพื่อให้ประพฤติธรรม
แต่หม่อมฉันมิได้สนใจขวนขวายในการประพฤติธรรมนั้นเลย
[196] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีผิวหน้าดังดอกบัว
เพื่อให้หม่อมฉันเกิดความเบื่อหน่ายในรูปกาย
[197] จึงทรงเนรมิตหญิงคนหนึ่งมีความงามน่าชม น่าชอบใจยิ่งนัก
ซึ่งมีรูปงามกว่าหม่อมฉัน ให้อยู่ในคลองแห่งจักษุของหม่อมฉัน
ด้วยอานุภาพของพระองค์
[198] หม่อมฉันอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นหญิงที่มีเรือนร่าง
อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็คิดว่า ‘เราเห็นหญิงมนุษย์ดังกล่าว
นี้มีผลดีและเป็นลาภแก่นัยน์ตาของเรา
[199] เชิญเถิดแม่คนงาม แม่จงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์แก่ฉัน
ฉันจะให้ แม่จงบอกสกุล นาม
โคตรของเธอแก่ฉัน ถ้าเธอพอใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :481 }